เรื่องเด่น

• แอปพลิเคชันเพื่อการจัดเก็บข้อมูลพืชคลุมดินป่าชายหาด

บทคัดย่อ

บทความวิจัยฉบับนี้ นำเสนอแอปพลิเคชันเพื่อการจัดเก็บข้อมูลพืชคลุมดินมีดอกในพื้นที่ป่าชายหาด โดยมีการศึกษา สำรวจ และรวบรวม พืชคลุมดินมีดอกในพื้นที่ราบป่าชายหาดภายในมหาวิทยาลยัเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งเก็บรายละเอียดในส่วน ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ความสูงของลำต้น ความยาวของใบ ขนาดของดอก และพิกัดที่พบพืชคลุมดินมีดอก แล้วจึงพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับจัดเก็บข้อมูลพืชคลุมดินมีดอกในพื้นที่ดังกล่าว และมีการประเมินประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน ผลการวิจัยพบว่า ภาพรวมผู้ใช้มีความพึงพอใจด้านความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน ด้านประสิทธิภาพในการใช้งาน ด้านการออกแบบหน้าจอแอปพลิเคชัน ทั้งหมดอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.20, 4.24 และ 4.18 ตามลำดับ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 0.72, 0.81 และ 0.78 ตามลำดับ

คำสำคัญ: พืชคลุมดินมีดอก, ป่าชายหาด, แอปพลิเคชัน

hci01  hci02  hci04
hci03  hci06  hci05

กัญญาภัค ศรีสุข, เอนก สาวะอินทร์ และทบทอง ชั้นเจริญ. (2566). แอปพลิเคชันเพื่อการจัดเก็บข้อมูลพืชคลุมดินป่าชายหาด. การประชุมวิชาการทางวิศวกรรมไฟฟ้า ครั้งที่ 46 (EECON-46). (PDF)

เรื่องเด่น

• การพัฒนาฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีสำหรับผู้สูงอายุบนระบบบริการข้อมูลแผนที่

 บทคัดย่อ

ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจากการคาดประมาณ ประชากรประเทศไทยสัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวนั้น จะช่วยสร้างความพึงพอใจต่อนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ สร้างการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ยืดอายุให้ยืนยาว ทำให้เกิดความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมความสามัคคี ความรัก และช่องว่างระหว่างวัยระหว่างผู้สูงอายุและครอบครัว

งานวิจัยครั้งนี้ได้ทำการจัดทำฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชองจังหวัดจันทบุรีสำหรับผู้สูงอายุบนระบบแผนที่ออนไลน์ โดยจะทำการรวบรวมข้อมูล เช่น แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่สำคัญ จากการตอบแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก โดยผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุของจังหวัดจันทบุรี ตอบแบบสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 10 คน เพื่อให้สามารถทราบความต้องการและแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ (2) กลุ่มเจ้าหน้าที่ประจำ พนักงาน หรือผู้รับผิดชอบของแหล่งท่องเที่ยว มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม จำนวน 69 คน และ (3) กลุ่มผู้ประกอบการหรือพนักงานของที่พักบริเวณแหล่งท่องเที่ยว ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม จำนวน 69 คน ตอบแบบสอบถามในประเด็นสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ต่างๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวสูงอายุ และ (4) กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุและครอบครัว หรือผู้ใช้งานเว็บไซต์ทั่วไป ผ้เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม จำนวน 69 คน เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุฯ จากนั้น ทำการออกแบบฐานข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุบนระบบบริการข้อมูลแผนที่ ในท้ายที่สุด ผู้วิจัยทำการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้งานโดยแบบสอบถาม ผลจากการวิจัย พบว่า การพัฒนาฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีสำหรับผู้สูงอายุบนระบบบริการข้อมูลแผนที่ สามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวสูงอายุทราบเส้นทางต่างๆ และสามารถวางแผนการท่องเที่ยว และพักในที่พักที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย ในท้ายที่สุด จากผลการประเมินความพึงพอใจด้านการออกแบบ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.67 และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 0.89 และความพึงพอใจด้านประสิทธิภาพการใช้งาน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 และมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่ 0.89 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของวิทนาท เจียะรัตน์ (2561) ได้ทำการวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่สามารถช่วยให้นักท่องเที่ยวสูงอายุและผู้พิการ เกิดความสะดวอกในการเดินทางและสามารถ เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในการใช้บริการแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น และช่วยตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้งานได้จริง

คำสำคัญ: ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว, ผู้สูงอายุ, ระบบบริการข้อมูลแผนที่

01 03 02
04 05

ศศิกานต์ ไพลกลาง, ทิพวรรณ นิยมวงศ์ และทบทอง ชั้นเจริญ. (2564). การพัฒนาฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรี สำหรับผู้สูงอายุบนระบบบริการข้อมูลแผนที. วารสารเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่
(JSID). 2(1), 1-16. (PDF)

• การรับรู้จากระยะไกลขั้นสูง (Advance Remote Sensing)

สาระสำคัญ

  • บทที่ 1 พื้นฐานของการรับรู้จากระยะไกล
    นิยามของการรับรู้จากระยะไกล
    พัฒนาการของการรับรู้จากระยะไกล
    ระบบการรับรู้จากระยะไกลจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า
    หลักการของการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า
    ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในบรรยากาศ
    ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าบนพื้นผิวโลก
  • บทที่ 2 ระบบตรวจวัดแบบมัลติสเปกทรัล
    ระบบตรวจวัดแบบมัลติสเปกทรัล
    ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตรวจวัด
    คุณลักษณะของข้อมูลภาพมัลติสเปกทรัล
    การแสดงผลข้อมูลภาพมัลติสเปกทรัล
  • บทที่ 3 ระบบตรวจวัดแบบไฮเปอร์สเปกทรัล
    พัฒนาการของระบบตรวจวัดแบบไฮเปอร์สเปกทรัล
    ระบบตรวจวัดแบบไฮเปอร์สเปกทรัล
    คุณลักษณะข้อมูลภาพไฮเปอร์สเปกทรัล
    การลดมิติข้อมูลภาพไฮเปอร์สเปกทรัล
    การวิเคราะห์ความเป็นสมาชิกสุดท้ายของจุดภาพบริสุทธิ์
    ขั้นตอนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลภาพไฮเปอร์สเปกทรัล
  • บทที่ 4 ระบบการตรวจวัดแบบเรดาร์
    พัฒนาการของเรดาร์
    ระบบการตรวจวัดแบบเรดาร์
    คุณลักษณะข้อมูลภาพเรดาร์
    ปฏิสัมพันธ์ของสัญญาณเรดาร์กับสภาพแวดล้อมบนโลก
  • บทที่ 5 ระบบการตรวจวัดแบบไลดาร์
    พัฒนาการของไลดาร์
    คุณสมบัติของเลเซอร์
    ระบบการตรวจวัดแบบไลดาร์
    คุณลักษณะข้อมูลภาพไลดาร์
  • บทที่ 6 กระบวนการประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลข
    การประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลขเบื้องต้น
    การจำแนกข้อมูลภาพ
    การประเมินความถูกต้องของการจำแนกข้อมูลภาพ
  • บทที่ 7 การจำแนกข้อมูลภาพโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์
    ระบบผู้เชี่ยวชาญ
    โครงข่ายประสาทเทียม
    การเรียนรู้ของเครื่อง
    การเรียนรู้เชิงลึก
  • บทที่ 8 การจำแนกข้อมูลภาพเชิงวัตถุ
    การจำแนกข้อมูลภาพ
    การปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว
    กระบวนการจำแนกข้อมูลภาพเชิงวัตถุ
    ขั้นตอนวิธีของการจำแนกเชิงวัตถุ
  • บทที่ 9 การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงเชิงเลข
    การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง
    ขั้นตอนการดำเนินงานการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง
    วิธีการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง

ทบทอง ชั้นเจริญ. (25XX). ตำรา การรับรู้จากระยะไกลขั้นสูง
(Advance Remote Sensing)
. สาขาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. XXX หน้า. (PDF) (Slides)

• การรับรู้จากระยะไกล (Remote Sensing 1)

สาระสำคัญ

  • บทที่ 1 พื้นฐานของการรับรู้จากระยะไกลนิยามของการรับรู้จากระยะไกล
    พัฒนาการของการรับรู้จากระยะไกล
    ระบบการรับรู้จากระยะไกลจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า
    หลักการของการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า
    ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าในบรรยากาศ
    ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าบนพื้นผิวโลก
    หน้าต่างบรรยากาศ
  • บทที่ 2 เครื่องมือตรวจวัดในระบบการรับรู้จากระยะไกล
    พัฒนาการของระบบเครื่องมือตรวจวัดในการรับรู้จากระยะไกล
    ระบบเครื่องมือตรวจวัดในการรับรู้จากระยะไกล
    ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตรวจวัด
    ระบบเครื่องมือตรวจวัดจากระยะไกลเชิงเลขแบบมัลติสเปกทรัลและแบบไฮเปอร์สเปกทรัล
    การแสดงผลข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล
    การสร้างภาพสีผสมจากข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล
    โครงสร้างของข้อมูลภาพเชิงเลขจากการรับรู้จากระยะไกลและการบันทึกข้อมูล
  • บทที่ 3 ภาพถ่ายทางอากาศและการแปลตีความด้วยสายตา
    พื้นฐานของภาพถ่ายทางอากาศ
    นิยามของภาพถ่ายทางอากาศ
    พัฒนาการของภาพถ่ายทางอากาศ
    องค์ประกอบของภาพถ่ายทางอากาศ
    ปัจจัยของการแปลตีความภาพถ่ายทางอากาศ
    การแปลตีความภาพถ่ายทางอากาศด้วยสายตา
  • บทที่ 4 ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมและการประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลข
    ประเภทของข้อมูลภาพเชิงเลข
    คุณลักษณะของข้อมูลภาพเชิงเลข
    หลักการแปลงข้อมูลภาพอนาล็อกเป็นข้อมูลภาพเชิงเลข
    ความละเอียดของข้อมูลภาพเชิงเลข
    องค์ประกอบของการประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลข
    ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลภาพเชิงเลข
  • บทที่ 5 การประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลขเบื้องต้น
    การประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลขเบื้องต้น
    การประเมินคุณภาพของข้อมูลภาพเชิงเลข
    การปรับแก้ความผิดพลาดของข้อมูลภาพเชิงรังสี
    การปรับแก้ความผิดพลาดของข้อมูลภาพเชิงเรขาคณิต
    การแปลงค่าพิกัดข้อมูลภาพเชิงเลข
  • บทที่ 6 การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภาพ
    การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภาพ
    การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภาพเชิงรังสี
    การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภาพเชิงพื้นที่
    การปรับปรุงคุณภาพข้อมูลภาพเชิงคลื่น
  • บทที่ 7 การจำแนกข้อมูลภาพ
    กระบวนการของการจำแนกข้อมูลภาพ
    การเลือกพื้นที่ตัวอย่าง
    ขั้นตอนวิธีการจำแนกข้อมูลภาพ
  • บทที่ 8 การประเมินความถูกต้องของการจำแนกข้อมูลภาพ
    การประเมินความถูกต้อง
    แหล่งที่มาของความผิดพลาดของการจำแนกข้อมูลภาพ
    การประเมินความถูกต้องของการจำแนกข้อมูลภาพ
  • บทที่ 9 สารสนเทศเฉพาะทางจากข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล
    ด้านป่าไม้
    ด้านเกษตรกรรม
    ด้านการใช้ที่ดิน
    ด้านธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน
    ด้านอุทกวิทยาและการจัดการทรัพยากรน้ำ
    ด้านสมุทรศาสตร์และทรัพยากรชายฝั่ง
    ด้านภัยพิบัติ
    ด้านการทำแผนที่
    ด้านผังเมืองและโยธาธิการ
    ด้านความมั่นคง
    ด้านโบราณคดี
    ด้านบรรยากาศและอุตุนิยมวิทยา
    ด้านสาธารณสุข
    ด้านสิ่งแวดล้อม

ทบทอง ชั้นเจริญ. (2564). เอกสารคำสอน รายวิชา การรับรู้จากระยะไกล 1 (Remote Sensing 1). สาขาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. 352 หน้า. (PDF) (Slides)

• วิธีการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง กรณีศึกษา: หมู่บ้านคลองหก ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

บทคัดย่อ

จังหวัดจันทบุรี มีความยาวชายฝั่งทะเลประมาณ 87 กม. ครอบคลุมพื้นที่ อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ อ.แหลมสิงห์ และ อ.ขลุง ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศวิทยาอื่นๆ ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายฝั่งตามมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินบริเวณชายฝั่ง ผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรู้จากระยะไกลและการประมวลผลภาพเชิงเลข มาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งในหมู่บ้านคลองหก ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2533 และ ปี พ.ศ. 2547 จากข้อมูลภาพดาวเทียมแลนแซตมาใช้ในการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งด้วยวิธีการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุดและวิธีการจำแนกเชิงวัตถุ ร่วมกับเทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงจากผลการจำแนกข้อมูลใน 2 ช่วงเวลา จากข้อมูลดาวเทียมแลนแซตพร้อมทั้งประเมินความถูกต้อง 2) เพื่อประเมินความเหมาะสมของการเลือกใช้วิธีการจำแนกข้อมูล และ 3) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล รวมทั้งนำผลการศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งที่ได้รับไปใช้ในการวางแผนการจัดการ การอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คงอยู่ต่อไป วิธีการศึกษาแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การคัดเลือกพื้นที่ศึกษา 2) การจัดหาข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น 3) การจำแนกข้อมูลภาพแบบความน่าจะเป็นสูงสุดและการจำแนกเชิงวัตถุ 4) การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงเชิงเลข 5) การสำรวจภาคสนามและประเมินความถูกต้อง และ 6) การประเมินความเหมาะสมการเลือกใช้วิธีการจำแนกข้อมูล

ผลการจำแนกประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินด้วยวิธีการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุดและวิธีการจำแนกเชิงวัตถุจากข้อมูลภาพ 2 ช่วงเวลา พบว่า ประกอบด้วย 5 ประเภทข้อมูล ได้แก่ 1) แหล่งน้ำ 2) สถานที่เพาะเลี้ยงกุ้ง 3) ที่โล่ง 4) ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และ 5) ป่าชายเลน ผลการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงจากผลการจำแนกข้อมูลใน 2 ช่วงเวลา จากการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุดและการจำแนกเชิงวัตถุ พบว่า รูปแบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินมี 25 ประเภทข้อมูล และสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงของประเภทการจำแนกแบบ From-To ได้ โดยพบว่า การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจากผลการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุด ประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินเพิ่มขึ้น ได้แก่ พื้นที่น้ำ สถานที่เพาะเลี้ยงกุ้ง พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และป่าชายเลน เท่ากับ 1.53, 0.38, 0.19, 2.30 ตร.กม. ตามลำดับ และประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินลดลง ได้แก่ พื้นที่โล่ง เท่ากับ 4.40 ตร.กม. ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจากผลการจำแนกเชิงวัตถุ ประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินเพิ่มขึ้น ได้แก่ พื้นที่น้ำ สถานที่เพาะเลี้ยงก้งุ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และป่าชายเลน เท่ากับ 1.78, 0.06, 0.59 และ 2.35 ตร.กม. ตามลำดับ และประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินลดลง ได้แก่ พื้นที่โล่ง เท่ากับ 4.79 ตร.กม. ผลการประเมินความถูกต้องการจำแนกประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน พบว่า การจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุดและการจำแนกเชิงวัตถุ มีค่าความถูกต้องโดยรวมและค่าสัมประสิทธิ์แคปปาของผลการจำแนกประเภทการใช้ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินเท่ากับร้อยละ 77.63, 67.86, 84.75 และ 77.32 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในการประเมินความเหมาะสมของการเลือกใช้วิธีการจำแนกข้อมูล พบว่า การจำแนกเชิงวัตถุมีความเหมาะสมในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่าการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุด เนื่องจากมีความถูกต้องโดยรวมและค่าสัมประสิทธิ์แคปปาสูงกว่า และเมื่อนำการทดสอบความแตกต่างกันของค่าสัมประสิทธิ์แคปปาโดยการทดสอบค่า Z มาพิจารณาร่วมด้วย พบว่า การจำแนกเชิงวัตถุมีความถูกต้องโดยรวมและค่าสัมประสิทธิ์แคปปาสูงกว่าการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญ ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 80, 90 และ 95

คำสำคัญ : การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง, การรับรู้จากระยะไกล, การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงจากผลการจำแนกข้อมูลใน 2 ช่วงเวลา

P33P47O33O47PCDOCD

ทบทอง ชั้นเจริญ, วิระ ศรีมาลา และณัฐพล แสวงธรรม. (2560). วารสารวิจัยรำไพพรรณี, 11 (3), 170-180. (PDF)

• พื้นฐานของภูมิสารสนเทศ (Fundamentals of Geoinformatics)

สาระสำคัญ

  • บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นของภูมิสารสนเทศ
    เทคโนโลยีสารสนเทศ
    องค์ประกอบของระบบคอมพิวเตอร์
    เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
    องค์ประกอบของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
    ประโยชน์ของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
  • บทที่ 2 การฉายภาพแผนที่และระบบพิกัด
    รูปทรงของโลกและพื้นหลักฐาน
    การฉายภาพแผนที่
    ชนิดของการฉายภาพแผนที่
    ระบบพิกัดในแผนที่
    แผนที่
    องค์ประกอบของแผนที่
  • บทที่ 3 การรับรู้จากระยะไกล
    นิยามของการรับรู้จากระยะไกล
    องค์ประกอบของการรับรู้จากระยะไกล
    หลักการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า
    ปฏิสัมพันธ์ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ากับสภาพแวดล้อมของโลก
    ดาวเทียม
    ระบบเครื่องมือตรวจวัดในการรับรู้จากระยะไกล
  • บทที่ 4 การประมวลผลข้อมูลภาพเชิงเลขเบื้องต้น
    คุณลักษณะของข้อมูลภาพเชิงเลข
    การบันทึกข้อมูลภาพเชิงเลข
    การแสดงผลข้อมูลภาพเชิงเลข
    ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลภาพเชิงเลข
    การประเมินคุณภาพของข้อมูลภาพเชิงเลข
    การปรับแก้ข้อมูลภาพเชิงเลข
    การเน้นข้อมูลภาพเชิงเลข
    การจำแนกประเภทข้อมูลภาพเชิงเลข
    การประเมินความถูกต้องของการจำแนก
    การประยุกต์ใช้ข้อมูลการรับรู้จากระยะไกล
  • บทที่ 5 ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    ความหมายของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    องค์ประกอบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    ลักษณะของข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    ความสัมพันธ์ของข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
  • บทที่ 6 การวิเคราะห์ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เบื้องต้น
    การจัดการข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    การวิเคราะห์ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    ฟังก์ชันการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเวกเตอร์
    การวิเคราะห์ข้อมูลแบบราสเตอร์
    มาตรฐานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
    การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
  • บทที่ 7 ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
    องค์ประกอบของระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
    หลักการทำงานของระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
    สมการค่าสังเกตจีพีเอส
    การรังวัดหาค่าพิกัดด้วยระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
    ค่าคลาดเคลื่อนในข้อมูลระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
    แนวโน้มและการประยุกต์ใช้ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก
  • บทที่ 8 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
    ด้านป่าไม้
    ด้านเกษตรกรรม
    ด้านการใช้ที่ดิน
    ด้านธรณีวิทยาและธรณีสัณฐาน
    ด้านอุทกวิทยาและการจัดการทรัพยากรน้ำ
    ด้านสมุทรศาสตร์และทรัพยากรชายฝั่ง
    ด้านภัยพิบัติ
    ด้านการทำแผนที่
    ด้านผังเมืองและโยธาธิการ
    ด้านความมั่นคง
    ด้านโบราณคดี
    ด้านบรรยากาศและอุตุนิยมวิทยา
    ด้านสาธารณสุข
    ด้านสิ่งแวดล้อม

ทบทอง ชั้นเจริญ. (2558). เอกสารประกอบการสอน รายวิชา พื้นฐานของภูมิสารสนเทศ
(Fundamentals of Geoinformatics)
. สาขาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. 354 หน้า. (PDF) (Slides)

• การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง กรณีศึกษา: หมู่บ้านคลองหก ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี

บทคัดย่อ

จังหวัดจันทบุรี มีความยาวชายฝั่งทะเลประมาณ 87 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ อำเภอแหลงสิงห์ และอำเภอขลุง ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและนิเวศวิทยา อื่นๆ ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่างๆ และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายฝั่งตามมา โดยเฉพาะการกัดเซาะชายฝั่ง ผู้วิจัยจึงได้นำหลักการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาติดตามการเปลี่ยนแปลงของการกัดเซาะชายฝั่งในหมู่บ้านคลองหก ต.เกาะ เปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2533 และ ปี พ.ศ. 2547 จากข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat มาใช้ในการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงการกัดเซาะของแนวชายฝั่งจากข้อมูลดาวเทียม Landsat ด้วยวิธีการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุด ร่วมกับการซ้อนทับข้อมูล พร้อมทั้งประเมินความถูกต้อง และ (2) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ รวมทั้งนำผลการศึกษาปัญหาการกัดเซาะของแนวชายฝั่งที่ไดรับไปใชในการวางแผนการจัดการ การอนุรักษ และการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งที่มีอยู่อยางจํากัดให้คงอยู่ต่อไป สำหรับวิธีการศึกษาแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) การคัดเลือกพื้นที่ศึกษา (2) การจัดหาข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น (3) การจำแนกข้อมูลภาพ (4) วิธีการซ้อนทับข้อมูลเชิงพื้นที่ และ (5) การสำรวจภาคสนามและประเมินความถูกต้อง

ผลการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินจากข้อมูลภาพ 2 ช่วงเวลา พบว่า ประกอบด้วย 5 ประเภทข้อมูล ได้แก่ (1) แหล่งน้ำ (2) สถานที่เพาะเลี้ยงกุ้ง (3) ที่โล่ง (4) หมู่บ้าน และ (5) ป่าชายเลน โดยในการซ้อนทับข้อมูลเชิงพื้นที่จากผลการจำแนกจากข้อมูลภาพ 2 ช่วงเวลา พบว่า เกิดเปลี่ยนแปลงของการใช้ประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมจากการกัดเซาะจากแหล่งน้ำ สถานเพาะเลี้ยงกุ้ง ที่โล่ง หมู่บ้าน และป่าชายเลน ไปเป็นแหล่งน้ำ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1.50 ตร.กม. ในขณะเดียวกัน ผลการประเมินความถูกต้องการจำแนกประเภทการใช้ที่ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน พบว่า มีค่าความถูกต้องโดยรวมและสัมประสิทธิ์แคปปาเท่ากับร้อยละ 77.63 และ 67.86 ตามลำดับ

คำสำคัญ การติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง, เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ, วิธีการจำแนกแบบความน่าจะเป็นสูงสุด

landsat ml 1990landsat ml 2004
landsat overlay 1990 landsat overlay 2004

ทบทอง ชั้นเจริญ. (2558). การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง กรณีศึกษา: หมู่บ้านคลองหก ต.เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี. วารสารสมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, 16 (2), 22-30. (PDF)

• การสกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินจากข้อมูลดาวเทียมธีออสโดยการจำแนกเชิงวัตถุ

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันการค้นคว้าวิจัยรูปแบบการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมธีออส ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทยเป็นไปอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ข้อมูลให้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงได้นำหลักการและวิธีการจำแนกประเภทข้อมูลภาพด้วยวิธีเชิงวัตถุมาใช้ในการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินด้วยวิธีการจำแนกเชิงวัตถุจากข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว และข้อมูลหลายช่วงคลื่นของดาวเทียมธีออสในพื้นที่ต้นแบบ 3 รูปแบบ (พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่าไม้) พร้อมทำการประเมินความถูกต้อง และ (2) เพื่อประเมินความเหมาะสมของการเลือกใช้ประเภทข้อมูลจากดาวเทียมธีออสในการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ต้นแบบ สำหรับวิธีการศึกษาแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย (1) การคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ (2) การจัดหาข้อมูลและประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น (3) การจัดเตรียมข้อมูลพื้นที่ต้นแบบ (4) การจำแนกประเภทข้อมูลเชิงวัตถุ (5) การสำรวจภาคสนามและประเมินความถูกต้องและ (6) การประเมินความเหมาะสมการเลือกใช้ข้อมูล

ผลการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน ระดับที่ 2 ในพื้นที่ต้นแบบ 3 รูปแบบ จากข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว และข้อมูลหลายช่วงคลื่น พบว่า (1) พื้นที่ชุมชนเมือง ประกอบด้วย พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และสวนสาธารณะและต้นไม้ (2) พื้นที่เกษตรกรรม ประกอบด้วย นาข้าว พืชไร่ และไม้ยืนต้นและไม้ผล (3) พื้นที่ป่าไม้ ประกอบด้วย ป่าผลัดใบที่มีเรือนยอดแน่นทึบ ป่าผลัดใบที่มีเรือนยอดไม่แน่นทึบ และสวนป่า ในขณะเดียวกัน ผลการประเมินความถูกต้องการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน ระดับที่ 2 จากข้อมูลดาวเทียมธีออสทั้งสองประเภทในพื้นที่ต้นแบบ พบว่า ในพื้นที่ชุมชนเมือง ความถูกต้องโดยรวมและสัมประสิทธิ์แคปปาสำหรับข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว และข้อมูลหลายช่วงคลื่น มีค่าเท่ากับร้อยละ 71.43 และ 57.78 และร้อยละ 66.67 และ 50.79 ตามลำดับ ในพื้นที่เกษตรกรรม มีค่าเท่ากับร้อยละ 66.87 และ 48.59 และร้อยละ 72.39 และ 53.96 ตามลำดับ และในพื้นที่ป่าไม้ มีค่าเท่ากับร้อยละ 91.82 และ 80.98 และร้อยละ 88.99 และ 74.96 ตามลำดับ

ในการประเมินความเหมาะสมของการเลือกใช้ข้อมูลดาวเทียมธีออสสำหรับใช้ในการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน พบว่า ในพื้นที่ชุมชนเมือง หากพิจารณาเฉพาะค่าความถูกต้องโดยรวมและสัมประสิทธิ์แคปปา ข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียวมีความเหมาะสมมากกว่าข้อมูลหลายช่วงคลื่น แต่หากนำราคาข้อมูลภาพและการทดสอบความแตกต่างกันของค่าสัมประสิทธิ์แคปปาโดยการทดสอบค่า Z มาพิจารณาร่วมด้วย พบว่า ข้อมูลหลายช่วงคลื่นมีความเหมาะสมมากกว่าข้อมูลปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อพิจารณาความถูกต้องโดยรวม ค่าสัมประสิทธิ์แคปปา ราคาข้อมูล และการทดสอบความแตกต่างกันของค่าสัมประสิทธิ์แคปปาโดยการทดสอบค่า Z พบว่า ข้อมูลหลายช่วงคลื่นมีความเหมาะสมมากกว่าข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว สำหรับในพื้นที่ป่าไม้ พบว่า หากพิจารณาเฉพาะค่าความถูกต้องโดยรวมและสัมประสิทธิ์แคปปา ข้อมูลการปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียวมีความเหมาะสมมากกว่าข้อมูลหลายช่วงคลื่น แต่หากนำราคาข้อมูลภาพและการทดสอบความแตกต่างกันของค่าสัมประสิทธิ์  แคปปาโดยการทดสอบค่า Z มาพิจารณาร่วมด้วย พบว่า ข้อมูลหลายช่วงคลื่นมีความเหมาะสมมากกว่าข้อมูลปรับปรุงความละเอียดด้วยข้อมูลช่วงคลื่นเดียว

จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า วิธีการจำแนกเชิงวัตถุ (Object-oriented classification) สามารถนำมาใช้จำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินในพื้นที่ต้นแบบ 3 รูปแบบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำข้อมูลหลายช่วงคลื่นของดาวเทียมธีออสมาใช้จำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินในพื้นที่ป่าไม้จะให้ค่าความถูกต้องโดยรวมและค่าสัมประสิทธิ์แคปปาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ต้นแบบประเภทอื่น

คำสำคัญ : การจำแนกเชิงวัตถุ, การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน, ข้อมูลธีออส

ms-ur-2  ms-ag-2  ms-fo-2
pan-ur-2  pan-ag-2  pan-fo-2

ทบทอง ชั้นเจริญ และสุวิทย์ อ๋องสมหวัง. (2557). การสกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินจากข้อมูลดาวเทียมธีออสโดยการจำแนกเชิงวัตถุ. วารสารสมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย, 15 (1), 32-41. (PDF)

• การสร้างบทเรียนช่วยสอนบนอินเตอร์เน็ต รายวิชา โปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน เรื่อง การใช้โปรแกรมตารางงานขั้นพื้นฐานและขั้นสูง สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนอินเตอร์เน็ต (WBI)  วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน และเพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังจากที่เรียนด้วย  WBI  วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ บทเรียน  WBI วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  ที่พัฒนาขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยตัวบทเรียน  แบบทดสอบก่อนเรียน  แบบทดสอบหลังเรียน  และแบบทดสอบประเมินผลหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี  มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  จำนวน  24  คน  โดยการเลือกแบบเจาะจง  วิธีดำเนินการวิจัย เริ่มจากให้กลุ่มตัวอย่างทดลองใช้บทเรียน  WBI  โดยมีการทำแบบทดสอบก่อนเรียน  แบบทดสอบหลังเรียนและแบบทดสอบประมวลผลหลังเรียนจากนั้นนำคะแนนที่ได้จากการทดสอบมาวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักสถิติ

ผลการวิจัยพบว่า  WBI  วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ  74.07/84.07  ซึ่งอยู่ในเกณฑ์  80/80  ที่ตั้งไว้  เมื่อนำคะแนนเฉลี่ยการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบด้วยการทดสอบที  (t-test)  พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนหลังเรียนด้วยบทเรียน  WBI วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05  แสดงให้เห็นว่า WBI วิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน  ที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอน  สำหรับนักศึกษานักศึกษาระดับปริญญาตรี  ตามหลักสูตรมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้

คำสำคัญ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบนอินเตอร์เน็ต, โปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน

wbi-1  wbi-2  wbi-3
wbi-4  wbi-5  wbi-6

ทบทอง ชั้นเจริญ. (2550). การสร้างบทเรียนช่วยสอนบนอินเทอร์เน็ต รายวิชาโปรแกรมสำเร็จรูปและการประยุกต์ใช้งาน เรื่องการใช้โปรแกรมตารางงานพื้นฐานและขั้นสูง สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี. คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. (PDF) (Brochure) (Poster) (E-learning)